วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สภาพปัญหาสังคม สิ่งทีเกิดขึ้น

          นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงโทษของการที่เด็กติดเกมส์ว่า การเล่นเกมส์หรือใช้อินเตอร์เน็ตนานๆส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย แสบตา ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย โทษต่อสุขภาพจิต เช่น เกิดความขัดแย้งขึ้นในจิตใจภายในหรือขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างได้ เพราะเคยชินกับการได้ดังใจ นอกจากนี้อาจรุนแรงถึงโทษต่อการผลิตผลงานของชีวิต เช่น สอบตก เสียการเรียน เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นเสียผู้เสียคนจากการมีพฤติกรรมอันธพาล ขโมยเงิน มั่วสุมเล่นการพนัน นำไปสู่การใช้ยาเสพติด หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม
          โดย นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว การที่เด็กนั่งเล่นเกมส์อยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กไม่ได้ทำกิจกรรม และ ไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากนัก ในขณะที่เด็กเป็นวัยที่จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการวิ่งเล่น          ออกกำลังกาย และมีสังคมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนรอบข้าง เพื่อพัฒนา ทักษะทางกาย, อารมณ์, สังคม และจิตใจ และมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ พบว่า เด็กที่ติดเกมส์ ก่อให้เกิดนิสัยก้าวร้าวและมีปัญหาทาง ด้านอารมณ์รุนแรงในโรงเรียน
          ด้าน ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต มหาวิทยาลัย              ศรีนครินทรวิโรฒ พูดถึงปัญหาเด็กติดเกมส์ว่า จากการศึกษา พบว่า อายุของเด็กที่เริ่มติดเกมส์ได้ลดลงจากอายุ 12 ปี เหลือประมาณ 10 ปี และว่าส่วนใหญ่เด็กที่ผู้ปกครองพามารักษา จะอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เล่นเกมส์ไม่ไหวแล้ว เล่นจนตาช้ำ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางคนก็เส้นประสาทตึง ปวดหัวมาก บางคนเป็นมากอาจเส้นประสาทแตก สลบอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และ อาจถึงขั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้าได้
          ปัญหาเด็กติดเกมส์ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสำคัญใน ประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็ประสบปัญหาเช่น เดียวกัน ในขณะที่ผู้ปกครองยังไม่ให้ความสำคัญ อีกทั้งเด็กยังสามารถเข้าถึงเกมส์ได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเกมส์เพลย์ เกมส์ตู้ เกมส์คอมพิวเตอร์ หรือ เกมส์ออนไลน์ ที่ทำให้เด็กสามารถเล่นเกมส์ได้ทั้งที่บ้าน ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอินเทอร์เน็ต
          เกมส์ในยุคนี้ยังมีความหลากหลาย ทั้งภาพ แสง สี และเสียง ความสมจริงที่ผู้เล่นสามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกมส์ได้ ทำให้เข้าถึงอารมณ์ในเกมส์ และเกมส์ออนไลน์ยังเป็นช่องทางให้เด็กได้มีเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเรื่องเกมส์เช่นเดียวกัน ประกอบกับเวลาว่างที่เด็กบางคนมีมากจนเกินไป การขาดระเบียบวินัยในการจัดการตนเอง ทำให้เด็กติดเกมส์ในที่สุด
          กระทรวงไอซีทีเองไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งหามาตรการควบคุมปัญหาเด็กติดเกมส์ ซึ่งปัญหาเด็กติดเกมส์เริ่มรุนแรงขึ้น จึงต้องเร่งหามาตรการควบคุม โดยที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์ เช่น การสร้างคำเตือนบนหน้าจอ การควบคุมเซิร์ฟเวอร์เกมส์ และการสร้างกิจกรรมทางเลือกในด้านบวกให้กับเด็กๆ
           นอกจากนี้ทางกระทรวงยังได้กำหนดแนวทางการควบคุมร้านอินเทอร์เน็ตไว้ 2 แนวทาง คือ ร้านอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่เดิมและร้านอินเทอร์เน็ตที่เปิดใหม่ โดยร้านอินเทอร์เน็ตเดิมจะให้ชมรมกู๊ดเน็ตเข้าไปยกระดับคุณภาพ และควบคุมกันเองเพื่อให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงไอซีทีกำหนดไว้เกี่ยวกับ การให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ว่า สภาพแวดล้อมต้องดี ปลอดโปร่ง   มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มีมลพิษ ห้ามเล่นการพนันและห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการก่อนเวลา 14.00 น. และ 22.00 น.
         การที่เด็กนั้นใช้เวลาว่างมาเล่นเกมส์ ไม่สนใจแม้แต่การลุกไปทานข้าวกับครอบครัว ไม่สนใจในการเรียน การงาน และกิจกรรมอื่น ๆ มองข้ามความสำคัญของคนรอบตัว หมกมุ่นอยู่หน้าจอทั้งวัน มีความสุขเมื่อได้เล่น จะหงุดหงิดโมโหจนถึงขั้นแสดงออกไปในแนวทางก้าวร้าวเมื่อไม่ได้เล่น หรือถูกขัดคอขณะเล่น อาการเหล่านี้ถือได้ว่าเด็กคนนี้ “ติดเกมส์” คล้ายคนติดสารเสพติด
          “เด็กติดเกมส์” จึงกลายเป็นปัญหาที่ทุกๆฝ่ายต้องเร่งแก้ไขเอาใจใส่ดูแลอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มที่ตัวบุคคลเป็นหลัก ทั้งเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู และคนรอบข้าง โดยสามารถสังเกตพฤติกรรมการติดเกมส์ของเด็กง่ายคือ หากเด็กเริ่มสนุกสนาน อยากรู้ อยากเห็น อยากลองเล่นเกมส์ นั่นหมายถึงเด็กเริ่มชอบเกมส์แล้ว หากเด็กเริ่มรู้สึกภูมิใจ สนุกสนานเริ่มคุยเรื่องในเกมส์มากขึ้น พร้อมทั้งเริ่มเล่นในยามว่าง นั่นแสดงว่า เด็กเริ่มหลงใหล คลั่งไคล้เกมส์ และเมื่อพบว่าเด็กเล่นเกมส์อย่างเดียว โดยไม่สนใจอย่างอื่น หมกมุ่นอยู่กับเกมส์ทั้งวัน ครุ่นคิดแต่เรื่องเกมส์ มองเห็นภาพเกมส์ในสมองตนเอง แสดงออกในทางก้าวร้าว นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า “เด็กติดเกมส์” แล้ว
          ที่น่าห่วงเพราะในปัจจุบันเกมส์ตามท้องตลาด ล้วนเป็นเกมส์เกี่ยวกับการต่อสู้ และสงคราม มีการรบราฆ่าฟันกัน และมีความรุนแรงแฝงอยู่ภายในเกมส์นั้นๆ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการลอกเลียนแบบของเด็กและเยาวชน เป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมด้านลบ และเด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมแบบผิดๆไป
          ภัยร้ายบนโลกอินเทอร์เน็ต โลกของการสื่อสาร สิ่งทำให้ทุกอย่างในโลกย่อส่วนมาอยู่ใกล้แค่คลิก! เข้าไป สิ่งเหล่านี้ทั้งทันสมัย สวยงาม จนทำให้หลายคนอาจมองข้ามปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยไม่ได้คาดคิดว่าจุดเล็กๆอย่างเกมส์คอมพิวเตอร์ จะนำพามาซึ่งปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข

ที่มา อารยา สิงห์สวัสดิ์.เด็กติดเกมส์...ภัยร้ายโลกไซเบอร์
http://www.thaihealth.or.th /node/4118

ตัวอย่างข่าว สลดใจ-เด็กติดเกมส์ ม.3 ผูกคอตายเลียนแบบ GTA มรณะ

         เด็ก ม.3 วัย 15 ปี เป็นลูกชายสายสืบบางเขน ผูกคอตายอนาถในแฟลตตำรวจ ศพพิลึกไม่สวมเสื้อแต่นุ่งกระโปรงสั้นสีดำ ใส่ถุงน่องแบบเต็มตัว แถมยังใช้เชือกผูกรองเท้ามัดขาทั้งสองข้างอีก พ่อออกเวรกลับไปหาลูกพบกลายเป็นศพ หัวใจแทบสลาย ไม่รู้ปมสาเหตุลูกคิดสั้นฆ่าตัวตาย เผยเป็นเด็กร่าเริง แต่ติดเกมส์ออนไลน์-ออฟไลน์ ยันไม่มีการเบี่ยงเบนทางเพศ เพื่อนรักแฉคนตายติดเกมส์จีทีเอ แนวอาชญากรรม สร้างให้ตัวเองเป็นนักเลงหัวไม้ไล่ก่อเหตุชั่วร้ายเพียบ เผยเจอกันครั้งสุดท้ายเหมือนมาลาโทรศัพท์หาเพื่อนในกลุ่มทุกคน ตำรวจคาดคนตายซึมซับพฤติกรรมตัวละครในเกมส์ จนเอามาเป็นแบบอย่างแต่พลาดต้องมาจบชีวิตแบบอนาถ แฉเกมส์ GTA เป็นแนวระห่ำแตก เน้นความสะใจในการก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบ นิยมมากในหมู่วัยรุ่นคนเล่นเกมส์ อีกรายสาวใต้รักร้าว ซดเบียร์เคลียร์ปัญหาแต่ไม่ลงตัว วิ่งเข้าตู้โทรศัพท์สาธารณะใช้สายฮัลโหลรัดคอตัวเองตายอนาถ
          เด็กชายลอกเลียนพฤติกรรมจากเกมส์จนต้องจบชีวิตลงรายนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 6 ส.ค. ร.ต.ต.กวินท์ อดุลยาศักดิ์ ร้อยเวร สน.บางเขน รับแจ้งมีคนผูกคอเสียชีวิตภายในห้อง 41/2 ชั้น 1 แฟลต 1 ข้าราชการตำรวจหลัง สน.บางเขน ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน ไปตรวจสอบพร้อมพ.ต.ท.วรฤทธิ์ ศูนยะคณิต สว.สส. และมูลนิธิร่วมกตัญญู พบศพนายพิเชษฐ์ เข็มเงิน อายุ 15 ปี หรือน้องแบงก์ นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.ลาดปลาเค้าวิทยาคม สภาพศพใช้ผ้าขาวม้าผูกคอตัวเองโยงกับช่องระบายลมหน้าห้องน้ำ โดยมือทั้งสองข้างอยู่ในสภาพจับรั้งผ้าขาวม้าอยู่ ส่วนศพไม่สวมเสื้อ นุ่งกระโปรงสั้นแค่เข่าสีดำ สวมถุงน่องแบบเต็มตัว และที่ข้อเท้ามีเชือกผูกรองเท้าสีดำมัดขาทั้งสองข้างไว้ ทั้งนี้ไม่พบร่องรอยถูกทำร้ายหรือรื้อค้นภาย ในห้องแต่อย่างใด
          จากการสอบสวน จ.ส.ต.ประสิทธิ์ เข็มเงิน ผบ.หมู่งานสืบสวน สน.บางเขน ซึ่งเป็นบิดาของน้องแบงก์ ให้การด้วยน้ำเสียงโศกเศร้าว่า ก่อนเกิดเหตุตนเพิ่งออกเวรชุดสืบสวนมาเมื่อช่วงเวลา 06.00 น. โดยกลับมาที่ห้องพัก เพื่อปลุกลูกชายให้ตื่นมากินข้าวและเตรียมตัวไปเรียนพิเศษตามปกติ แต่เคาะเรียกเท่าไหร่ก็ไม่มีคนมาเปิดประตู จึงคิดว่าจะต้องมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแน่นอน ทำให้ตัดสินใจถอดบานเกล็ดหน้าต่างห้องออก แล้วเปิดประตูเข้าไปพบเห็นลูกชายผูกคอตายดังกล่าว

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์.สลดใจ-เด็กติดเกมส์ ม.3 ผูกคอตายเลียนแบบ 
GTA มรณะ.http://www.mthai.com/webboard/5/130156.html

เปิดแนวทางป้องกันเด็กติดเกมส์

          เกมส์ออนไลน์และเกมส์คอมพิวเตอร์นั้น ดูจะเป็นตัวสร้างปัญหาและความปวดหัวให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้อย่างมาก เพราะเด็กๆมักจะเล่นจนเลยเถิดลืมวันลืมคืน แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เด็กติดเกมส์ได้บ้าง
          แพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวในงานเผยแพร่ความรู้เรื่อง "เด็กติดเกมส์" ว่า ปัจจุบันมีเกมส์หลายประเภท ออกแบบให้ผู้เล่นเพลิดเพลิน เกมส์ที่เด็กผู้ชายนิยมเล่นมากคือเกมต่อสู้ ผจญภัย และแข่งกีฬา ส่วนเกมส์ที่เด็กหญิงนิยม คือเกมส์กีฬา และเกมส์แฟชั่น
          ในยุคไอทีเช่นนี้ การปิดกั้นไม่ให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตหรือเล่นเกมส์ออนไลน์เลย อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองควรหาวิธีป้องกันไว้ก่อนดังต่อไปนี้
    1. ก่อนซื้อเกมส์หรือคอมพิวเตอร์เข้าบ้าน ควรคุยกับเด็กเพื่อกำหนดกติกาการเล่นเกมส์กันล่วงหน้าอย่างชัดเจนเสียก่อน ว่าจะให้เล่นในวันเวลาใด ครั้งละกี่ชั่วโมงหรือต้องทำอะไรให้เรียบร้อยก่อน คุณหมอแนะนำให้เขียนกฎ กติกา มารยาทไว้ในที่เห็นชัด เช่น หน้าคอมพิวเตอร์ และมีสมุดลงบันทึกการใช้งานคอมพิวเตอร์
    2. ควรวางคอมพิวเตอร์ไว้เป็นสมบัติส่วนรวม มีคนเดินผ่านไปมาบ่อย ไม่วางในห้องนอนเด็ก
    3. วางนาฬิกาไว้หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมส์ในจุดที่เด็กมองเห็นเวลาได้ชัด
    4. ควรชมเมื่อเด็กรักษาและควบคุมเวลาในการเล่นเกมส์ได้
    5. เอาจริงเอาจังและเด็ดขาดเมื่อเด็กไม่รักษากติกา ไม่ใจอ่อน แม้ว่าเด็กจะโวยวาย
    6. สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก สร้างบรรยากาศในครอบครัวให้อบอุ่น น่าอยู่
    7. ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมอื่นที่สนุกสนานและเด็กสนใจแทนการเล่นเกมส์
    8. ฝึกระเบียบวินัย สอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา
    9. พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับเกมส์ แยกแยะประเภทของเกมส์ เลือกใช้เกมส์ที่มีประโยชน์ ควรพูดคุยและให้ความรู้สอดแทรกให้ลูกเข้าใจและยอมรับได้ว่าการเล่นเกมส์ที่ดีคืออะไร ไม่ส่งเสริมให้เล่นเพราะอะไร

         หากปัญหายังไม่ดี ขึ้น สามารถโทร เข้ามาปรึกษาได้ที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนคริทร์ โทรศัพย์ 02-3548300 เพื่อรับคำปรึกษา

   ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ.เปิดแนวทางป้องกันเด็กติดเกมส์
http://hilight.kapook.com/view/13044

พื้นฐาน 10 ประการแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์ (กรมสุขภาพจิต)

1. สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็ก
2. ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
3. ใช้มาตรการทางการเงิน
4. ฟังและพูดดีต่อกัน
5. ฟังลูก ชื่นชม ให้กำลังใจ
6. ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม
7. มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก (กีฬา, ดนตรี)
8. สร้างรอยยิ้มเด็กในครอบครัว
9. ควบคุมอารมณ์และสร้างพลังใจให้ตนเอง
10. เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราทันที

   ที่มา กรมสุขภาพจิต.พื้นฐาน 10 ประการแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์
http://www.thaigoodview.com/node/59128

บทวิเคราะห์

          การที่เยาวชนที่กำลังจะเป็นอนาคตของชาติ ไม่รู้หน้าที่ของตนเอง ขาดความรับผิดชอบในตนเอง ขาดระเบียบวินัยในการจัดการตนเอง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ย่อมจะทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติในอนาคตอย่างแน่นอน กรณีปัญหาเด็กติดเกมส์เป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน จะพบว่าในปัจจุบันนั้น เยาวชนไทยจะติดเกมส์เป็นส่วนใหญ่ มีร้านเกมส์จำนวนมากตามสถานที่ต่างๆทั่วไป ทำให้เอื้อต่อการเล่นเข้าไปเล่นเกมส์ของเยาวชนเหล่านั้น เกิดเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไข การติดเกมส์นั้นทำให้เกิดปัญหาต่างๆเช่น นำไปสู่การเสียการเรียน ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน เสียสุขภาพ การลักขโมย การพนัน ความรุนแรงต่างๆ เป็นต้น อันจะเห็นได้จากการมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงการที่เด็กกระทำการต่างๆที่เลียนแบบเกมส์บางชนิด ซึ่งเป็นข่าวที่น่าสลดใจยิ่งของสังคมไทยที่เกมส์นั้นมีผลต่อเยาวชนมากถึงขนาดนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมสถานบริการหรือร้านเกมส์ต่างๆแล้วก็ตาม แต่มันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว สิ่งที่เราต้องทำคือการปลูกฝังเยาวชนถึงสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่เป็นประโยช์ต่อตนเอง สังคมส่วนรวม และประเทศชาติในอนาคต
          การที่เยาวชนของไทยเราเลือกที่จะเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์แทนที่จะเล่นการละเล่นของเด็กไทยในสมัยก่อนนั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือการที่ในปัจจุบันสังคมมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมชนชนบทพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้น ซึ่งในชุมชนเมืองนั้นอยู่อาศัยกันแบบครอบครัวเดี่ยว แต่การละเล่นของเด็กไทยนั้นเป็นกิจกรรมกลุ่ม ต้องใช้สมาชิกหลายคนในแต่ละการละเล่น ทำให้เด็กหันมาเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งมีแค่คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมส์ชนิดต่างๆเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ก็สามารถหาความสนุกสนานได้แล้ว ปัจจัยต่อมาคือพื้นที่ในการเล่น ในปัจจุบันหลายๆพื้นที่เปลี่ยนเป็นชุมชนเมืองดังที่ได้กล่าวมา ทำให้มีพื้นที่น้อยลง พื้นที่สาธารณะน้อยลง การละเล่นของเด็กไทยนั้นต้องใช้พื้นที่ในการเล่นจึงทำให้พื้นที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการละเล่นของเด็กไทยที่ลดลง ปัจจัยสุดท้ายคือความสะดวกในการเล่น คอมพิวเตอร์นั้นสามารถเล่นได้อย่างสะดวกสบาย มีเก้าอี้หรือโซฟาเป็นที่นั่ง แต่การละเล่นของเด็กไทยนั้นส่วนใหญ่ต้องเล่นที่ลานกว้าง หรือสนามหญ้า ซึ่งปัจจุบันโลกก็ร้อนขึ้น ทำให้เด็กๆเลือกที่จะเล่นเกมส์ในบ้านหรือในห้องแอร์ดีกว่าการมาเล่นการละเล่นของเด็กไทยที่ทั้งร้อนและเหนื่อยด้วย
          การขัดเกลาทางสังคม เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการทางสังคมในการถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่สมาชิกในสังคมให้สมาชิกในสังคมมีบุคลิกภาพตามแนวทางที่สังคมต้องการ ซึ่งเป็นวิถีทางที่สำคัญในการสร้างความเป็นมนุษย์ในสังคม จุดมุ่งหมายของการขัดเกลาทางสังคมก็เพื่อให้ทางสังคมสอนให้เด็กรู้สิ่งที่เด็กจะต้องรู้เพื่อเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ในชุมชน รวมทั้งให้รู้ถึงสิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพื่อจะได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ และองค์กรทางสังคมที่จะทำหน้าที่ช่วยขัดเกลาในปัญหาเด็กติดเกมส์นี้ที่สำคัญคือ ครอบครัว สถานศึกษา กลุ่มเพื่อน และสื่อมวลชน ที่จะช่วยดูแลและพัฒนาให้เยาวชนของเราประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร ซึ่งในปัจจุบันนั้นการขัดเกลาทางสังคมยังอาจทำได้ไม่ถูกวิธีหรือไม่ถูกทางทำให้เกิดปัญหากับเยาวชนของไทยในเรื่องดังกล่าว การขัดเกลาทางสังคมจึงสอดคล้องกับปัญหาเด็กติดเกมส์ที่เกิดขึ้น และสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาให้เห็นผลในระยะยาวได้

  นนร.พูนสิทธิ์ บุรพรัตน์

ผู้จัดทำ

 
   นนร.พูนสิทธิ์  บุรพรัตน์
   ชั้นปีที่ ๒ กองวิชากฏหมายและสังคมศาสตร์ เลขที่ ๓
   นำเสนออาจารย์ ร้อยเอกฐนัส  มานุวงศ์