วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สภาพปัญหาสังคม สิ่งทีเกิดขึ้น

          นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงโทษของการที่เด็กติดเกมส์ว่า การเล่นเกมส์หรือใช้อินเตอร์เน็ตนานๆส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย แสบตา ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย โทษต่อสุขภาพจิต เช่น เกิดความขัดแย้งขึ้นในจิตใจภายในหรือขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างได้ เพราะเคยชินกับการได้ดังใจ นอกจากนี้อาจรุนแรงถึงโทษต่อการผลิตผลงานของชีวิต เช่น สอบตก เสียการเรียน เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นเสียผู้เสียคนจากการมีพฤติกรรมอันธพาล ขโมยเงิน มั่วสุมเล่นการพนัน นำไปสู่การใช้ยาเสพติด หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม
          โดย นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว การที่เด็กนั่งเล่นเกมส์อยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กไม่ได้ทำกิจกรรม และ ไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากนัก ในขณะที่เด็กเป็นวัยที่จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการวิ่งเล่น          ออกกำลังกาย และมีสังคมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนรอบข้าง เพื่อพัฒนา ทักษะทางกาย, อารมณ์, สังคม และจิตใจ และมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ พบว่า เด็กที่ติดเกมส์ ก่อให้เกิดนิสัยก้าวร้าวและมีปัญหาทาง ด้านอารมณ์รุนแรงในโรงเรียน
          ด้าน ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต มหาวิทยาลัย              ศรีนครินทรวิโรฒ พูดถึงปัญหาเด็กติดเกมส์ว่า จากการศึกษา พบว่า อายุของเด็กที่เริ่มติดเกมส์ได้ลดลงจากอายุ 12 ปี เหลือประมาณ 10 ปี และว่าส่วนใหญ่เด็กที่ผู้ปกครองพามารักษา จะอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เล่นเกมส์ไม่ไหวแล้ว เล่นจนตาช้ำ น้ำตาไหลตลอดเวลา บางคนก็เส้นประสาทตึง ปวดหัวมาก บางคนเป็นมากอาจเส้นประสาทแตก สลบอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และ อาจถึงขั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้าได้
          ปัญหาเด็กติดเกมส์ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสำคัญใน ประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็ประสบปัญหาเช่น เดียวกัน ในขณะที่ผู้ปกครองยังไม่ให้ความสำคัญ อีกทั้งเด็กยังสามารถเข้าถึงเกมส์ได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเกมส์เพลย์ เกมส์ตู้ เกมส์คอมพิวเตอร์ หรือ เกมส์ออนไลน์ ที่ทำให้เด็กสามารถเล่นเกมส์ได้ทั้งที่บ้าน ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอินเทอร์เน็ต
          เกมส์ในยุคนี้ยังมีความหลากหลาย ทั้งภาพ แสง สี และเสียง ความสมจริงที่ผู้เล่นสามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกมส์ได้ ทำให้เข้าถึงอารมณ์ในเกมส์ และเกมส์ออนไลน์ยังเป็นช่องทางให้เด็กได้มีเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเรื่องเกมส์เช่นเดียวกัน ประกอบกับเวลาว่างที่เด็กบางคนมีมากจนเกินไป การขาดระเบียบวินัยในการจัดการตนเอง ทำให้เด็กติดเกมส์ในที่สุด
          กระทรวงไอซีทีเองไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งหามาตรการควบคุมปัญหาเด็กติดเกมส์ ซึ่งปัญหาเด็กติดเกมส์เริ่มรุนแรงขึ้น จึงต้องเร่งหามาตรการควบคุม โดยที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์ เช่น การสร้างคำเตือนบนหน้าจอ การควบคุมเซิร์ฟเวอร์เกมส์ และการสร้างกิจกรรมทางเลือกในด้านบวกให้กับเด็กๆ
           นอกจากนี้ทางกระทรวงยังได้กำหนดแนวทางการควบคุมร้านอินเทอร์เน็ตไว้ 2 แนวทาง คือ ร้านอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่เดิมและร้านอินเทอร์เน็ตที่เปิดใหม่ โดยร้านอินเทอร์เน็ตเดิมจะให้ชมรมกู๊ดเน็ตเข้าไปยกระดับคุณภาพ และควบคุมกันเองเพื่อให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงไอซีทีกำหนดไว้เกี่ยวกับ การให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ว่า สภาพแวดล้อมต้องดี ปลอดโปร่ง   มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มีมลพิษ ห้ามเล่นการพนันและห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการก่อนเวลา 14.00 น. และ 22.00 น.
         การที่เด็กนั้นใช้เวลาว่างมาเล่นเกมส์ ไม่สนใจแม้แต่การลุกไปทานข้าวกับครอบครัว ไม่สนใจในการเรียน การงาน และกิจกรรมอื่น ๆ มองข้ามความสำคัญของคนรอบตัว หมกมุ่นอยู่หน้าจอทั้งวัน มีความสุขเมื่อได้เล่น จะหงุดหงิดโมโหจนถึงขั้นแสดงออกไปในแนวทางก้าวร้าวเมื่อไม่ได้เล่น หรือถูกขัดคอขณะเล่น อาการเหล่านี้ถือได้ว่าเด็กคนนี้ “ติดเกมส์” คล้ายคนติดสารเสพติด
          “เด็กติดเกมส์” จึงกลายเป็นปัญหาที่ทุกๆฝ่ายต้องเร่งแก้ไขเอาใจใส่ดูแลอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มที่ตัวบุคคลเป็นหลัก ทั้งเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู และคนรอบข้าง โดยสามารถสังเกตพฤติกรรมการติดเกมส์ของเด็กง่ายคือ หากเด็กเริ่มสนุกสนาน อยากรู้ อยากเห็น อยากลองเล่นเกมส์ นั่นหมายถึงเด็กเริ่มชอบเกมส์แล้ว หากเด็กเริ่มรู้สึกภูมิใจ สนุกสนานเริ่มคุยเรื่องในเกมส์มากขึ้น พร้อมทั้งเริ่มเล่นในยามว่าง นั่นแสดงว่า เด็กเริ่มหลงใหล คลั่งไคล้เกมส์ และเมื่อพบว่าเด็กเล่นเกมส์อย่างเดียว โดยไม่สนใจอย่างอื่น หมกมุ่นอยู่กับเกมส์ทั้งวัน ครุ่นคิดแต่เรื่องเกมส์ มองเห็นภาพเกมส์ในสมองตนเอง แสดงออกในทางก้าวร้าว นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า “เด็กติดเกมส์” แล้ว
          ที่น่าห่วงเพราะในปัจจุบันเกมส์ตามท้องตลาด ล้วนเป็นเกมส์เกี่ยวกับการต่อสู้ และสงคราม มีการรบราฆ่าฟันกัน และมีความรุนแรงแฝงอยู่ภายในเกมส์นั้นๆ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการลอกเลียนแบบของเด็กและเยาวชน เป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมด้านลบ และเด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมแบบผิดๆไป
          ภัยร้ายบนโลกอินเทอร์เน็ต โลกของการสื่อสาร สิ่งทำให้ทุกอย่างในโลกย่อส่วนมาอยู่ใกล้แค่คลิก! เข้าไป สิ่งเหล่านี้ทั้งทันสมัย สวยงาม จนทำให้หลายคนอาจมองข้ามปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยไม่ได้คาดคิดว่าจุดเล็กๆอย่างเกมส์คอมพิวเตอร์ จะนำพามาซึ่งปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข

ที่มา อารยา สิงห์สวัสดิ์.เด็กติดเกมส์...ภัยร้ายโลกไซเบอร์
http://www.thaihealth.or.th /node/4118

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น